เลี้ยงปลาดุก

ชื่ออาชีพ เลี้ยงปลาดุก

เงินลงทุน
ครั้งแรกประมาณ 20,000 บาท (ค่าพันธุ์ปลาขนาด 3-5 เซนติเมตร
ราคา 0.20 บาท/ตัว) เครื่องสูบน้ำ ราคา 7,000 บาท

รายได้
ประมาณ 30,000 บาท/รุ่น

วัสดุ/อุปกรณ์
บ่อดิน พันธุ์ปลา เครื่องสูบน้ำ อวน สวิง


แหล่งจำหน่ายพันธุ์ปลา
ฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทั่วไป สถานีประมงน้ำจืดจังหวัด (กรมประมง)

วิธีดำเนินการ
วิธีการเพาะปลาดุก
1. การเตรียมสถานที่ ควรทำสถานที่ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพธรรมชาติที่ปลาดุกวางไข่ ใช้บ่อซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 5 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 75 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อการดูแลได้สะดวกบริเวณของบ่อเพาะพันธุ์ควรตั้งอยู่ในทำเลที่เงียบสงัดห่างไกลจากการรบกวน

2. เตรียมที่วางไข่ธรรมชาติของปลาดุกเป็นปลาที่ชอบวางไข่ตามโพรงริมตลิ่ง บ่อที่ใช้ในการเพาะปลาดุกจึงควรขุดโพรงที่ริมบ่อ หรือคูให้มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 20 เซนติเมตร ให้ปากโพรงกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 35 เซนติเมตร ที่ก้นโพรงควรทำให้เป็นแอ่งกว้างกว่าที่ปากโพรงเล็กน้อย

3. อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลา ควรใช้พ่อแม่พันธุ์ขนาดใหญ่ประมาณ 10 คู่ ต่อเนื้อที่บ่อ 200 เมตร

4. การวางไข่และการผสมพันธุ์ หลังจากที่ได้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ประมาณ 3-7 วัน ปลาดุกสามารถวางไข่ด้ประมาณ 2 ครั้ง/ฤดู ปลาดุกคู่หนึ่งสามารถให้กำเนิด ลูกปลา ได้ประมาณ 2,000-5,000 ตัว

การอนุบาลลูกปลาในบ่อดิน
บ่อควรมีขนาด 2-3 ตารางเมตร ลึกประมาณ 60 เซนติเมตร และควรปล่อย ลูกปลาขนาดเล็กลงเลี้ยงประมาณ 10,000 - 30,000 ตัว

การเลี้ยงปลาดุกขนาดใหญ่
1. การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาดุก ควรจะได้พิจารณาเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เนื่องจากปลาดุกมีนิสัยชอบหนีออกจากบ่อเลี้ยง โดยทั่วๆ ไป ผู้เลี้ยงปลาดุกมักนิยมล้อมขอบบ่อด้วยรั้วไม้รวก หรือเฝือก ซึ่งมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร

2. อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยง ในเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ควรปล่อยปลาที่มีขนาดยาว 5-7 เซนติเมตร ประมาณ 60 ตัว ถ้าปลามีขนาดเล็กกว่านี้ควรปล่อยประมาณ ตารางเมตรละ 70 ตัว ไม่ควรปล่อยให้มากเกินไปจนแน่น จะทำให้ปลาเติบโตช้า และทำอันตรายกันเอง

อาหารและการให้อาหาร
อาหารลูกปลา ลูกปลาซึ่งมีถุงไข่แดงยุบหมดแล้ว ควรจะให้อาหารจำพวกไรน้ำต่อไปประมาณ 5-7 วัน ในเวลาเช้าและเย็น ต่อจากนั้นก็ให้อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้แก่
1. อาหารจำพวกแมลง เช่น ปลวก ลูกน้ำ ไรน้ำ ฯลฯ
2. เนื้อสัตว์ เช่น เศษเนื้อวัว ควาย ปลา ไส้เป็ด ไส้ไก่ เลือดและเครื่องใน ฯลฯ
3. เนื้อกุ้ง หอย และปูต่าง ๆ
4. เนื้อสัตว์จำพวกกบ เขียด และอื่น ๆ

อาหารปลาใหญ่ ปลาดุกเป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งเนื้อและผัก ซึ่งแบ่งได้ ดังนี้
1. อาหารจำพวกเนื้อ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เหมาะสมตามแต่จะหาได้ หรือ เครื่องใน เช่น เครื่องในของโคและสุกร ตลอดจนเลือดสัตว์ และพวกแมลง เช่น ปลวก หนอน ตัวไหม และไส้เดือน ฯลฯ
2. อาหารจำพวกพืช ได้แก่ รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้ง แป้งข้าวโพด แป้งมัน และผักต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มอาหารหรืออาจจะให้มูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลหมู มูลแพะ ฯลฯ โดยจัดตั้งคอกเลี้ยงสัตว์นั้นๆ ให้อยู่ใกล้กับบ่อปลา

การจับปลา
ปลาดุกที่นิยมซื้อขายกันในท้องตลาดนั้นเป็นปลาขนาดพองาม ประมาณ 3-5 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ปลาดุกขนาดดังกล่าวนี้ มีอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 8 เดือน



ตลาด/แหล่งจำหน่าย
ตลาดสดทั่วไป องค์การสะพานปลา โรงงานแปรรูปและร้านอาหารต่าง ๆ



สถานที่ให้คำปรึกษา
1. กองประมงน้ำจืด กรมประมง โทร. 02- 5798561
2. สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดทุกจังหวัด และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด



ข้อแนะนำ
วิธีการป้องกันรักษาไม่ให้ปลาดุกเป็นโรค ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องพยายามทำให้ปลาอยู่ในสภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ โดยวิธีปฏิบัติดังนี้

1. พยายามถ่ายน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันน้ำเสียและเป็นการรักษาสภาพ ความเป็นกรดด่างของน้ำ

2. กำจัดโรคพยาธิที่เกาะตามตัวปลาโดยใช้ฟอร์มาลินและดิพเทอร์เร็กซ์ ใส่ลงในน้ำ

3. ควรบดอาหารให้ละเอียดและเหนียว จะทำให้อาหารที่เหลือลอยขึ้นสู่ ผิวน้ำ ไม่จมลงไปเน่าอยู่ที่ก้นบ่อ


บริษัท ไทยเว็บ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
2/152 ซอยเพชรเกษม 114 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10160
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี : 0105553027232
Tel : 02-810-8300 (จ.-ศ.08.30 - 17.30 น.) , 085-8213121 (24 ชม.) Fax : 02-810-8301
Email : [email protected] (ฝ่ายขาย) [email protected] (ฝ่ายบริการลูกค้า)
เพิ่มเพื่อน
0